9 มิ.ย. 2550

หมายเหตุ หลังจากอ่านบทความจบแล้วกดที่ความคิดเห็น (Comment) ให้กรอกชื่อ - นามสกุล และกดคำว่าเผยแพร่ความคิดเห็น
ขอบคุณที่มาของบทความ http://www.thaihomemaster.com/showpage.php?url=showinformation.php?TYPE=12 ระดับดินที่เหมาะสม
ก่อนที่จะทำการสร้างบ้าน หรือสิ่งก่อสร้างใดๆ เจ้าของแทบทุกรายจะต้องเกิดคำถามว่าระดับดินของบ้านหรือโครงการนั้นจะเอาสูงแค่ไหน การที่จะตอบปัญหาข้อนี้ควรจะดูปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น
1. บริเวณพื้นที่นั้นมีน้ำท่วมหรือเปล่า ท่วมสูงแค่ไหน อาจจะต้องสอบถามจากผู้คนแถวๆ นั้น หรือถ้าสามารถดูร่องรอยน้ำท่วมที่อยู่ตามสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้ก็ยิ่งดีครับ
2. ระดับท่อระบายน้ำและบ่อพักสูงแต่ไหน ระดับน้ำในระบบท่อระบายน้ำในพื้นที่นั้นอยู่ที่ระดับไหน สามารถสอบถามได้จากหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบอยู่ หากระดับที่คุณต้องการถมอยู่ค่อนข้างสูงก็ไม่เป็นไรจะไม่มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ แต่ถ้าระดับของคุณค่อนข้างต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียง(ไม่ควรแต่จะด้วยเหตุจำเป็นใดๆ ก็ตาม) ควรจะเช็คตัวนี้ด้วยครับเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำในบ้านเราสามารถระบายออกสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะได้
3. ระดับถนนหน้าบ้าน และระดับดินพื้นที่ข้างเคียง ปัจจุบันมีการถมยกระดับถนนกันมาก แข่งกันถมทั้งถนน ทั้งเพื่อนบ้าน ถ้าสามารถให้ระดับดินของเราใกล้เคียงกับพื้นที่รอบๆก็น่าจะดีครับ ทั้งในแง่ความปลอดภัยของโครงสร้างรั้ว การระบายน้ำ ฯลฯ
การกำหนดระดับดินถมควรดูปัจจัยรอบๆ ด้าน ถมสูงหน่อยได้เปรียบ แต่ค่าถมและค่ากำแพงกันดินจะแพงขึ้นตามระดับครับ

ทำไมต้องใช้ลูกรัง
ดินลูกรังสามารถบดอัดได้ดี เมื่อบดอัดแล้วจะแน่นแข็ง เหมาะแก่การถมเพื่อทำผิวถนนคอนกรีต แต่ไม่เหมาะที่จะใช้ทำสวน ในการถมที่ปลูกบ้านอาจจะแบ่งโซนเป็นดินลูกรังเฉพาะส่วนถนนก็ได้ครับ

ถมดินก่อสร้างบ้าน หรือ ถมทีหลังดี
การถมดินก่อนสร้างบ้านเครื่องจักรจะทำงานได้ง่าย อีกทั้งดินที่ถมทิ้งไว้จะยุบตัวไปบางส่วนขณะทำการก่อสร้าง เมื่อท่านสร้างบ้านเสร็จแล้วค่อยปรับระดับหน้าดิน และบดอัดดินทำถนนอีกครั้ง ดินจะยุบตัวอีกหลังจากนั้นไม่มากแล้วครับ

ถมดินอย่างไรไม่ทรุด (สำหรับดินบริเวณทั่วไป หรือ จัดสวน)
เรื่องการทรุดตัวของดินเกิดจากหลายสาเหตุคือ
1. ดินที่นำมาถมเมื่อถูกขุดและขนย้ายแล้วนำมาถม เนื้อดินจะไม่แน่นมีโพรงอยู่ข้างใน เมื่อถมทิ้งไว้สักหลายๆ เดือนดินจะค่อยๆ ยุบตัวโดยที่โพรงอากาศข้างในจะถูกน้ำหนักดินกดเอาเนื้อดินเข้ามาแทนที่ ทางแก้คือใช้รถแบคโฮ รถบรรทุกดินหรือรถแทรกเตอร์ วิ่งบดไปบดมาเป็นชั้นๆ ละ 30-50 เซนติเมตร จะทำให้โพรงเหล่านี้ยุบลงไปได้มาก กรณีของถนนต้องใช้สเปกสำหรับทำถนนซึ่งยุ่งยากทีเดียว
2. ดินเดิมเมื่อถูกน้ำหนักดินถมกดลงมาก็จะยุบตัว ยุบมากยุบน้อยขึ้นอยู่กับสภาพดินเดิมว่ามีความแน่นเพียงใด เช่นดินเดิมที่เคยใช้เป็นลานจอดรถมานานและมีรถเข้าออกจอดอยู่เสมอก็จะทรุดน้อย ดินเดิมที่เป็นท้องนาหรือที่ต่ำขังน้ำดินอุ้มน้ำไว้มากจะทรุดตัวมาก ไม่มีทางแก้ครับ ดินจะทรุดไปตามธรรมชาติ แต่ไม่นานอาการนี้จะหยุดไปเอง
3. ดินทรุดจากการสูบน้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อันนี้ก็ไม่มีทางแก้เช่นกัน ต้องทรุดลงไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว อาการนี้ไม่หยุด (ยกเว้นจะหยุดสูบน้ำบาดาลอาการก็จะค่อยๆ ช้าลง)
4. อินทรีย์วัตถุผิวดิน เช่นบริเวณน้ำขังจะมีขี้เลนซึ่งเป็นอินทรีย์วัตถถุจากการเน่าเปื่อยของพืชน้ำ รวมทั้งซากต้นไม้ต่างๆ ด้วย เมื่อถมดินกลบไปแล้วจะค่อยๆ ย่อยสลายยุบตัวแล้วดินถมที่อยู่ข้างบนก็จะยุบตัวตามลงมา ทางแก้กรณีเป็นที่น้ำขัง ถ้ามีขี้เลนเหลวๆ รวมทั้งพืชน้ำต่างๆ ให้ลอกออกก่อน ถ้าเป็นที่แห้งให้ถางพืชต่างๆ รวมทั้งขุดตอไม้ใหญ่ออกด้วย หรืออาจใช้วิธีจุดไฟเผาก็ได้ถ้าสามารถควบคุมการลุกลามของไฟได้ ดินถมบริเวณใดไม่ได้มีการลอกเลน หรือบริเวณที่มีอินทรีย์วัตถุออกอยู่มากเอาออกไม่หมด ก็จะยุบเป็นหลุมๆ
หากมีการคุมงานที่ดี ตามวิธีในข้อ 1 และข้อ 4 แล้วดินที่ถมจะไม่ยุบมาก ไม่ต้องมาปรับระดับที่หลังอีกที (หรือปรับไม่มาก) ครับ
ในการพิจารณาว่าต้องมีการบดอัด หรือมาตราการป้องกันดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเราต้องใช้พื้นที่บริเวณนั้นอย่างไร เช่นถ้าใช้เป็นถนนคอนกรีตจะต้องมีการบดอัด และกำจัดเศษวัชพืชอย่างดี เนื่องจากการทรุดตัวของดินต่างกันเล็กน้อยก็อาจทำให้ผิวถนนแตกร้าวได้ แต่ถ้าใช้เป็นพื้นที่จัดสวนนั้นเราสามารถปรับระดับดินภายหลังจากที่ทิ้งให้ดินยุบตัวไปสักปีสองปีแล้ว แต่ก็ควรจะบดอัดบ้างเหมือนกันถ้าเราต้องการสวนที่สวยเรียบในปีแรกๆ ครับ

ถมดินอย่างไรไม่โดนโก่งราคา
ในการถมดินสำหรับเจ้าของงานนั้นไม่แนะนำให้จ้างรถดินขน และจ้างรถบดเข้ามาเองครับ เนื่องจากถ้าไม่คุ้นเคยกับงานแล้วอาจจะโดนโกงได้ง่าย ควรจะจ้างผู้รับเหมาถมดินให้จัดการให้เสร็จ แล้วทีนี้การติดต่อกับผู้รับเหมาถมดิน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าราคาควรจะเป็นเท่าไหร่ ตกลงกันตรงไหน
1. เริ่มที่การคิดปริมาณดิน ก็คือ กว้างคูณยาวคูณสูง หรือพื้นที่คูณความสูงนั่นเอง ในกรณีที่พื้นที่เดิมไม่สม่ำเสมออาจจะต้องเฉลี่ยระดับ กรณีพื้นที่กว้างๆ มูลค่างานมาก ควรจะจ้างช่างสำรวจหาระดับดินในตำแหน่งต่างๆ แล้วคำนวณปริมาณดินออกมา
2. ราคาต่อหน่วย เมื่อทราบปริมาณดินที่ต้องการแล้วคูณด้วยราคาต่อหน่วยก็จะเป็นราคารวม ราคาต่อหน่วยนี้ต้องสูงกว่าราคาดินจากรถขนดิน เนื่องจากเวลานำดินมาบดอัดแล้วปริมาตรจะยุบตัวลงไป และผู้รับเหมาต้องบวกค่าดำเนินการ กำไรต่างๆ ด้วย ให้ลองเช็คราคาดูกับผู้รับเหมาหลายๆ ราย ก็จะทำให้เราทราบราคาตลาดครับ
3. ข้อกำหนดในการทำงาน เช่น ต้องลอกเลนหรือไม่(น่าจะลอกนะครับ) บดอัดทุก 30 ซม หรือ 50 ซม. ซึ่งจะคุมเข้มแค่ไหนขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การใช้งานพื้นที่ เช่นพื้นที่ถมทิ้งไว้เฉยๆ หรือใช้จัดสวน ก็ควรมีการบดอัดบ้าง แต่ถ้าเป็นถนนต้องมีการบดอัดและควบคุมคุณภาพอย่างดีไม่งั้นถนนจะแตกร้าวได้ครับ
4. ตอนทำงานควรไปดูบ่อยๆ ด้วยครับ ผู้รับเหมาจะได้ทำตามที่ได้ตกลงกัน
5. ก่อนเริ่มทำการถม ควรมีการทำระดับอ้างอิงไว้เพื่อตรวจสอบ เช่นการพ่นสี ตอกตะปูกำหนดระดับไว้ตามเสาไฟฟ้า หรือสิ่งก่อสร้างข้างเคียงที่มีลักษณะถาวร ไม่เคลื่อนย้าย เมื่อผู้รับเหมาจะส่งมอบงานจะได้ทำการตรวจสอบได้ครับ

ระวังรั้วเอียงด้วยนะจ๊ะ
ธรรมชาติดินนั้นมันไม่ใช่เพียงอยู่นิ่งๆ เท่านั้น แต่มันจะมีแรงดันทางด้านข้างด้วย ดินที่ระดับเท่ากันต่างคนต่างดันกันเองกับเพื่อนๆ รอบตัวมัน ก็ไม่เป็นไร แต่ดินต่างระดับความสูงที่ถูกกั้นไว้ด้วยกำแพงรั้วนั้น ดินที่สูงกว่าจะมีแรงดันมากกว่าผลักออกไปทางดินที่ต่ำกว่า แรงนี้เองที่กำแพงรั้วจะต้องรับไว้ คุณจึงเอากำแพงรั้วแบบธรรมดามาใช้เป็นกันดินที่ต่างระดับมากๆ ไม่ได้ครับ โครงสร้างกำแพงรั้วต้องออกแบบให้รับแรงดันดินได้โดยไม่เอียง

1 ความคิดเห็น:

tiwakorn กล่าวว่า...

นายทิวากร ศรีสัมพันธ์